กว่าจะเป็นบ้านที่สมบูรณ์แบบแต่ละหลัง ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ๆ ผู้เป็นเจ้าของบ้านต่างต้องพบปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องเงินและเรื่องคน ไหนจะเรื่องแบบบ้าน หลักฐานเอกสารต่าง ๆ เรียกได้ว่า เหนื่อยยกใหญ่กันเลยหละครับ แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไปเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้ ขอแค่เพียงมองไปที่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ วาดภาพบ้านในจินตนาการของเราให้ชัดเจน การมองไปที่เป้าหมายใหญ่จะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาที่พบเจอระหว่างทาง เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่อาจขวางกั้นความสำเร็จนี้ได้
สำหรับเนื้อหาชุดนี้ ขอนำ 5 ขั้นตอนเบื้องต้นในการสร้างบ้าน พร้อมกับแนวทางการออกแบบบ้านสวย 6 สไตล์เพื่อให้ผู้อ่านที่กำลังสร้างบ้าน ได้เตรียมความพร้อมกันเบื้องต้น กว่าจะเป็นบ้านหนึ่งหลัง ต้องทำอย่างไรบ้าง อ่านกันต่อเลยครับ
1. เลือกทำเลที่ใช่
สำหรับผู้อ่านที่สร้างบ้านภายในที่ดินมรดก หมดความกังวลเรื่องดังกล่าวไปได้ทันทีครับ ข้อดีของการสร้างบ้านในที่ดินมรดก ช่วยให้เราประหยัดงบที่ดินไปได้มาก แถมยังได้อยู่ใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง แต่มีข้อเสียคือ เราไม่สามารถเลือกทำเลที่ใจต้องการได้อย่างแท้จริง
สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่มีที่ดินในการสร้างบ้าน การหาทำเลสร้างบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญลำดับต้น ๆ และทำเลนี่เองที่จะเป็นคำตอบของวิถีชีวิต สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ความสะดวกสบาย หรืออาจสรุปโดยรวมได้ว่า หากทำเลในการอยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยย่อมเปลี่ยนแปลงตาม โดยทำเลที่ดีเหมาะกับการอยู่อาศัย มีดังนี้
- เดินทางสะดวกใกล้สถานที่สำคัญ ทั้งสถานที่ราชการ, แหล่งการค้าขาย, สถานพยาบาล, สถานศึกษา หรืออื่น ๆ ตามความจำเป็นของวิถีชีวิตแต่ละครอบครัว
- มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน ทั้งไฟฟ้า, น้ำประปา, อินเตอร์เน็ต, รถประจำทาง
- อยู่ห่างกับโซนโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานที่ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ กลิ่น และเสียงรบกวน
ทั้งนี้ ทำเลที่ดีของแต่ละบุคคลอาจมีความแตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์และข้อจำกัดของงบประมาณ
2. ตั้งงบสร้างบ้าน
หัวข้อนี้จัดเป็นคำถามที่พบบ่อยในเพจบ้านไอเดีย ผู้อ่านส่วนมากไม่ทราบว่าต้องเตรียมเงินสร้างบ้านเท่าไหร่ดี คำตอบของคำถามนี้แต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่พอจะสรุปเป็นตัวเลขเบื้องต้นได้ตามลำดับการคำนวณ ดังนี้
- วิเคราะห์พื้นที่ใช้สอยบ้าน แต่ละห้องกว้างยาวกี่เมตร เพื่อหาพื้นที่ใช้สอยรวม (หน่วยเป็นตารางเมตร)
- นำพื้นที่ใช้สอยรวมที่ได้คูณกับราคาสร้างบ้านโดยประมาณ หากเป็นปี 2560 ประมาณราคาสร้างบ้านทั่วไปจะอยู่ที่ 12,000 – 15,000 บาท/ตร.ม. ซึ่งงบการสร้างบ้านหากเลือกวัสดุที่มีคุณภาพดี แม้ราคาจะสูงขึ้นตาม แต่นับว่าคุ้มค่าในการใช้งานระยะยาวมากเลยทีเดียว
ตัวอย่าง : ต้องการสร้างบ้านชั้นเดียวสำหรับครอบครัวเล็ก ๆ อยู่อาศัยร่วมกัน 4 คน มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 150 ตร.ม.
สูตรคำนวณ = พื้นที่ใช้สอย x ค่าสร้างบ้าน
จะได้ = 150 ตร.ม. x 13,000 บาท = 1.95 ล้านบาท
3. วางแผนค่าใช้จ่าย
นอกจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านแล้ว การสร้างบ้านแต่ละหลังยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาอีกมาก ทั้งค่าออกแบบบ้าน, ค่าดำเนินการกับภาครัฐ, ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด และหากต้องซื้อที่ดินใหม่ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นตามราคาที่ดินแปลงดังกล่าว
- ค่าใช้จ่ายในการออกแบบบ้าน กรณีใช้แบบบ้านสำเร็จรูป ค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 – 15,000 บาท กรณีให้สถาปนิกออกแบบบ้านใหม่ สถาปนิกนิยมคิดค่าใช้จ่ายตามราคาสร้างบ้าน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 3-10% ของราคาสร้างบ้าน
- ค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดิน ข้อดังกล่าวนี้ไม่สามารถระบุตัวเลขได้อย่างแน่ชัด เพราะราคาที่ดินแต่ละทำเลมีความแตกต่างกันมาก สำหรับการสร้างบ้านอยู่อาศัยทั่วไป นิยมซื้อที่ดินขนาด 50 – 200 ตร.ว. ราคาที่ดินทั่วไปประมาณ 5,000 – 50,000 บาท/ตร.ว.
- ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับภาครัฐ ทั้งการติดต่อขออนุญาตสร้างบ้าน, ขอไฟฟ้า, ประปา, อินเตอร์เน็ต และบริการต่าง ๆ
- ค่าดอกเบี้ยในอนาคต กรณีกู้ยืมเงินสร้างบ้าน โดยเฉลี่ยแล้วดอกเบี้ยประมาณ 7.5% ทบต้น ทบดอกด้วยนะครับ
4. เลือกแบบบ้านที่ชอบ
สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าทำเลที่ดินคือแบบในการสร้างบ้าน แบบบ้านที่ดีช่วยให้การใช้ชีวิตภายในบ้านมีความลื่นไหล อยู่สบาย และแบบบ้านที่ดียังเป็นเสมือนแผนที่นำทาง ช่วยให้เราสามารถดำเนินงานสร้างบ้านเป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างลงตัว โดยปกติแล้วการหาแบบในการสร้างบ้าน มี 2 วิธีหลัก ดังนี้
- ซื้อแบบบ้านสำเร็จรูป เป็นลักษณะแบบบ้านที่ทางผู้ออกแบบ ได้ออกแบบไว้สำเร็จพร้อมใช้งาน แบบสำเร็จรูปช่วยให้การสร้างบ้านประหยัดงบประมาณไปได้ เนื่องด้วยราคาแบบไม่สูงมากนัก หากแบบชุดดังกล่าวตรงกับโจทย์ที่เจ้าของบ้านวาดฝันไว้ ก็สามารถซื้อแบบสำเร็จมาใช้งานได้เช่นกันครับ
- แต่หากต้องการบ้านที่มีเอกลักษณ์ บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้าน ทุก ๆ ส่วนของบ้านตอบโจทย์การใช้งานจริงทั้งหมด รวมทั้งการวางผังบ้านสอดคล้องกับทิศทางลม แสงแดด การออกแบบบ้านโดยสถาปนิกมืออาชีพ เป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการสร้างบ้านครับ
แบบบ้านสไตล์ไหนดี
ก่อนติดต่อพูดคุยกับสถาปนิกเพื่อออกแบบบ้าน ผู้เป็นเจ้าของบ้านควรมีโจทย์ความต้องการเบื้องต้นเพื่อที่จะสามารถสื่อสารกับสถาปนิกได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ในเนื้อหาชุดนี้ ขอนำตัวอย่าง 6 สไตล์บ้าน สวยอยู่สบายมาให้ชมเป็นแนวทางกันครับ
1. Modern Style
บ้านรูปทรงทันสมัย เน้นการใช้องค์ประกอบรูปทรงเรขาคณิตที่ดูเรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยความแข็งแกร่ง เน้นการโชว์ผิวของวัสดุ ที่ลดทอนการประดับตกแต่งที่เกินความจำเป็น
2. Thai Oriental Style
บ้านทรงไทยประยุกต์ ที่มีรูปทรงสะท้อนกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทย หลังคาทรงจั่ว ชานระเบียงเปิดกว้าง เป็นต้น
3. Natural Style
บ้านธรรมชาติ ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือเลียนแบบธรรมชาติ โดยไม่มีรูปแบบบ้านที่ตายตัว เน้นให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสภาพแวดล้อม
4. Contemporary Style
บ้านร่วมสมัย ที่ผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่นเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างลงตัว วัสดุตกแต่งบ้านส่วนใหญ่หาได้ไม่ยาก เป็นสไตล์บ้านที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุคปัจจุบัน
5. Colonial Style
บ้านโคโลเนียล บ้านที่ผสมผสานความเป็นตะวันตกกับท้องถิ่น ตกแต่งด้วยไม้หรือวัสดุทดแทนไม้ มีลายฉลุ สีบ้านโทนอ่อน
6. Classic Style
บ้านคลาสสิค บ้านที่ให้ความรู้สึกหรูหรา โอ่โถง ทั้งพื้นที่และวัสดุ มีการประดับหัวเสา รวมถึงองค์ประกอบตกแต่ง แสดงถึงความหรูหรา มีฐานะ อย่างเช่น รูปปั้น น้ำพุ เป็นต้น
5. หาผู้สร้างบ้าน
เมื่อได้ที่ดิน งบประมาณ และแบบบ้านในการก่อสร้างแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายในการสร้างบ้าน อาจเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สร้างความกลุ้มใจและพบเจอปัญหามากที่สุดก็ว่าได้ ในขั้นตอนนี้เองผู้เป็นเจ้าของบ้านควรมีความรอบคอบและวางแผนงานอย่างละเอียด เพื่อให้การสร้างบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ สำหรับการหาทีมงานมาสร้างบ้าน โดยทั่วไปจะมีให้เลือก 3 รูปแบบ ดังนี้
- เจ้าของบ้านคุมงานเอง ตัวเลือกนี้เหมาะกับผู้ที่มีประสบการณ์ในการสร้างบ้านมาบ้างแล้วเท่านั้น อาจเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งเคยได้เรียนรู้กระบวนการสร้างบ้านจากบ้านหลังแรก ได้พบเจอปัญหาและรู้จักกับช่างผู้ชำนาญการแต่ละด้านอยู่บ้าง การคุมงานเองช่วยให้เจ้าของบ้านประหยัดงบประมาณสร้างบ้านไปได้มาก โดยเฉพาะค่าวัสดุ เพราะโดยปกติหากจ้างรับเหมา ผู้รับเหมาจะบวกกำไรค่าวัสดุและค่าดำเนินงานต่าง ๆ ร่วมด้วย แต่นั่นก็ทำให้เจ้าของบ้านต้องเหนื่อยและต้องคุมงานต่าง ๆ อย่างละเอียด ดังนั้นนอกจากจะมีประสบการณ์แล้ว การคุมงานด้วยตนเอง จึงต้องมีเวลาว่างมากพอด้วยเช่นกันครับ
- ผู้รับเหมาสร้างบ้าน นับเป็นตัวเลือกที่นิยมกันมากที่สุดก็ว่าได้ โดยปกติหากเป็นบ้านเรือนทั่วไปที่ไม่ได้มีความซับซ้อนในงานโครงสร้างมากนัก เจ้าของบ้านจะเลือกใช้บริการจากผู้รับเหมาภายในท้องถิ่น โดยผู้รับเหมาเหล่านี้มีทั้งในรูปแบบ ช่างทั่วไปที่เรียนรู้งานก่อสร้างจากประสบการณ์ และวิศวกรที่จบสายงานโยธามาโดยเฉพาะ
- บริษัทรับสร้างบ้าน จุดเด่นของการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน คือ ความมั่นคงได้มาตรฐานงานระดับสูง โดยทั่วไปแล้วบริษัทรับสร้างบ้านจะให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ คุมงานก่อสร้างโดยวิศวกรและสร้างบ้านได้ตรงตามมาตรฐาน อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเจ้าของบ้านไปได้มาก และพบเจอปัญหาน้อยที่สุด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการจัดการกับคน สำหรับบริษัทที่มีมาตรฐานงานสูงจะมีทีมงานพร้อมดำเนินการอยู่เสมอ งานต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว แต่ก็แลกมาด้วยค่าบริการที่สูงตามมาเช่นกันครับ
ไม่ว่าผู้อ่านเลือกผู้สร้างบ้านในรูปแบบใด เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ ควรทำสัญญาสร้างบ้านอย่างรอบคอบ และแบ่งชำระเงินเป็นงวด ๆ ตามปริมาณงานเท่านั้น สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาดคือการให้เงินผู้รับเหมาล่วงหน้าเกินขอบเขตในสัญญาแบ่งชำระเงิน เพราะโดยปกติแล้วเมื่อผู้รับเหมาได้เงินล่วงหน้าไปมาก งานจะล่าช้ากว่าปกติและเสี่ยงต่อการถูกทิ้งงานได้
สอนสร้างบ้าน: 5 ข้อต้องเตรียมพร้อม ก่อนลงมือสร้างบ้าน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://realestatebb.com/